Imagination is more important than knowledge
คำพูดของ Albert Einstein นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่คิดทฤษฎีสัมพัทธภาพให้แก่โลกของวิทยาศาสตร์ ดูจะเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงนัก . . . เพราะความรู้มากมายที่เราได้เรียนรู้กันบนโลกนี้ เกิดจากจินตนาการที่น่าทึ่ง
หากเราเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า ศิลปินอาจจะรับรู้ความงามของที่ว่างมหาศาลกับการม้วนตัวของก้อนเมฆที่พริ้วไหว ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เหตุผลวิเคราะห์ความเป็นไป แล้วถ่ายทอดออกมาเป็น 'ความรู้' หรือทฤษฎี ตามกระบวนการใช้เหตุผล พวกเขาได้แรงบันดาลใจจากสิ่งเดียวกัน และสร้างสรร ต่อยอด ความคิด จากจินตนาการทั้งสิ้น
อาจกล่าวได้ว่า ศิลปะและวิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกันอย่างยากที่จะแบ่งแยกออกอย่างเด็ดขาด . . . นักวิทยาศาสตร์และศิลปิน อาจมีสิ่งที่เหมือนกัน มากกว่าความแตกต่าง อย่างที่เราอาจจะถูกความคุ้นเคยของคำนิยามแบ่งแยกออก
ผมเชื่ออย่างนั้น . . .

ก่อนที่ไอน์สไตน์จะคิด ทฤษฎีสัมพัทธภาพได้ ขณะนั้น นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆรู้มาก่อนแล้วว่า การเคลื่อนที่ของแสงขัดกับกฎของนิวตัน เพราะความเร็วแสงคงที่เสมอ แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคพวกเขาที่ทำให้คิดทฤษฎีสัมพัทธภาพไม่ได้ ก็คือการขาด 'จินตนาการ'
Jimi Hendrix สุดยอดมือ guitar ระดับตำนาน อาจไม่ใช่นักดนตรีที่เชี่ยวชาญทางทฤษฎีดนตรี แต่ดนตรีที่งดงามที่เขาถ่ายทอดล้วนแล้วแต่ได้รับการยอมรับ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับมือ guitar ทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน . . . มันสื่อสารกับจิตวิญญาณของผู้ฟัง โดยที่เขาไม่ต้องพยายามเล่น หรือ ปรุงแต่งมัน แต่เขาเล่นจากจินตนาการ
แน่นอนว่า ความรู้และประสบการณ์เป็นพื้นฐานที่จะทำให้ภาพในจินตนาการชัดขึ้น
แต่คุณจะไม่ได้ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ได้เลยถ้าขาดจินตนาการ
และเมื่อกล่าวถึงเรื่องของความรู้และจินตนาการ . . . หนึ่งในสถานที่ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมทั้งสองเรื่องนี้ก็คือ 'โรงเรียน'

รูปแบบของสถาปัตยกรรมสำหรับใช้ในการเรียนการสอนนั้นค่อนข้างที่จะมีระเบียบแบบแผน เป็นทางการ ดูน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นภาพจำตั้งแต่ผมจำความได้ ประกอบกับการเรียนการสอนในสมัยโบราณที่เน้นการท่องจำเสียมาก ทำให้บรรยากาศของการเรียนนั้นค่อนข้างจะเป็นยาขมหม้อใหญ่สำหรับเด็กหลายต่อหลายคน แต่ในปัจจุบันที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง และสังคมมีการปรับตัวไปอย่างรวดเร็วในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทมาก ส่งผลให้รูปแบบและบรรยากาศของโรงเรียนมีความแตกต่างที่น่าสนใจมากขึ้น

'ตึกเพชร' (BU Landmark Complex)
เป็นกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ 3 อาคาร สร้างติดถนนพหลโยธินด้านหน้าทางเข้าหลักของวิทยาเขตรังสิต มีแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยใช้รูปทรงของอาคารสื่อความหมายแทนรูปทรงของเพชร แทนสัญลักษณ์ของสถาบัน
อาคารทั้งหมดมีพื้นที่รวมกัน ประมาณ 30,000 ตารางเมตร ก่อสร้างระหว่างปี พ.ศ. 2550-2552
ออกแบบโดยบริษัท A49 ที่ทุกคนในวงการสถาปัตยกรรมรู้จักดี

เรื่องของ Design และ Style ในการออกแบบอาจไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่สำหรับสถาปนิกหรือแม้แต่นิสิต นักศึกษา สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพราะต่างก็เคยเห็น เคยศึกษา ผลงานออกแบบอาคารในรุปแบบเช่นนี้กันมาแล้ว ทั้งในหนังสือและในห้องเรียน . . .เรียกว่าเห็นกันบนกระดาษออกแบบและจอ monitor กันมาแล้ว แต่การที่ผลงานบนกระดาษเหล่านั้นจะถูกก่อสร้างขึ้นบนผืนแผ่นดินได้จริง ยังมีไม่มากนัก . . .


ด้วยลักษณะของรูปทรงที่มีเหลื่ยมมุม หักเห ซ้อนเหลื่อม และแผ่ออกไปในแนวกว้าง ทำให้เกิดที่ว่าง (space) ทั้งภายในและภายนอกของอาคารที่น่าสนใจ . . . ทุกๆก้าวที่เดินเข้าไป จะเห็นเหลี่ยมและมุมของเส้นแทยงที่คม องศาที่พลิกไปมา เหมือนไม่รู้จักจบสิ้น นำสายไปจากที่ว่างหนึ่งไปสู่อีกที่ว่างหนึ่งเสมอๆ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่ไม่หยุดนิ่ง ตื่นตัว กระฉับกระเฉงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ดูจะเป็นการกระตุ้นให้เกิด 'จินตนาการ' แห่งการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

รายละเอียดทุกๆจุดของอาคาร ถูกออกแบบและก่อสร้างอย่างพิถีพิถัน
ไม่ว่าจะเป็นการเจาะช่องหน้าต่าง การเข้ามุมของตัวอาคาร
และการคิดถึงเรื่องของการประหยัดพลังงาน

อาคารจัดวางอยู่บนเนินที่ลาดลงสู่พื้นที่ว่างด้านหน้าที่เป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ติดกับถนนพหลโยธิน
ด้วยรูปทรงที่โดดเด่น และที่ว่างขนาดใหญ่ด้านหน้าอาคาร ส่งผลให้ตึกเพชรกลายเป็น Landmark ของพื้นที่ในย่านนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พื้นที่จากภายในสู่ภายนอก ทำได้ต่อเนื่อง กลมกลืน
ความรู้สึกของการได้เดินอยู่ภายในตึกเพชร ไม่ต่างอะไรกับการเดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เร้าให้เกิดการตื่นตัว สนใจ ใคร่รู้อยู่ตลอดเวลา

ไม่ว่าจะมองจากภายนอกสู่ภายใน หรือจากภายในสู่ภายนอก . . . เราจะรู้สึก Active ได้ตลอดเวลา
เหมือนเวลาเรามองอัญมณีที่สะท้อนแสงระยิบระยับ บ้างมองทะลุเข้าไปภายใน บ้างสะท้อนเงาจากภายนอก เกิดมิติ เกิดสีสรรที่น่าสนใจอยู่ตลอดเวลา

นอกจากรูปทรงในการออกแบบที่โดดเด่น น่าสนใจแล้ว ตัวอาคารยังสามารถรองรับนักศึกษาได้จำนวนมาก ระบบ circulation หรือที่เรียกว่าการถ่ายโอน user จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ก็ทำได้เรียบง่าย ไม่สับสน ผมเชื่อว่าตึกเพชรน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดี ในแง่ของการออกแบบสถาปัตยกรรมสำหรับโรงเรียนที่อื่นๆต่อไป


วัสดุต่างๆถูกใช้อย่างเปิดเผย ไม่ซ่อน โครงสร้าง โชว์เนื้อแท้ของวัสดุ
ซึ่งนอกจากจะได้ look ที่ดิบและทันสมัยแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนในการก่อสร้างลงไปได้มาก และดูแลรักษาง่าย

เนื่องจากเป็นอาคารใหม่ การออกแบบพื้นที่โดยรอบก็เน้นการใช้เส้นสายของทางเดิน ตัดกับสนามหญ้าอย่างคมชัด รับกันกับอาคารได้ดี จะขาดก็แต่ต้นไม้ใหญ่ที่ต้องรอเวลาเติบใหญ่อย่างเต็มที่เพื่อให้ร่มเงาเท่านั้น

จะเห็นว่าตัวอาคารไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้ Air condition ตลอดเวลา
ดังนั้นการคิดถึงเรื่องของทิศทางลมที่จะถ่ายเท + การคิดถึงเรื่องของการนำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ภายในอาคาร ก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องคิดและออกแบบอย่างพิถีพิถันเพื่อการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า

ทางเดินเชื่อมต่อ มีแนวหลังคาป้องกันฝนโดยตลอด
ทำให้การย้ายห้องเรียนจากวิชาหนึ่งไปอีกวิชาหนึ่งทำได้สะดวก

ระบบ Facilities ต่างๆถูกออกแบบไว้อย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ
Lighting design (แสง) และ Drainage system (ระบบระบายน้ำ)

และด้วยความที่รูปแบบของอาคารนั้น กระตุ้นให้เกิดจินตนาการที่ไม่หยุดนิ่ง
ผมจึงตั้งใจที่จะถ่ายและ process ภาพในชุดนี้ไปตามจินตนาการ
เพราะอยากได้ผลลัพธ์ที่ต่างไปจากภาพที่เคยเห็น . . . ภาพที่เคยถ่าย . . .




จะเป็นไรไป ถ้าผลลัพธ์(ภาพ)ที่ออกมาจะล้มเหลว ไม่ถูกใจ ไม่สมจริง ไม่น่าสนใจ . . .
อย่างน้อยเราก็ได้ทำในสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยทำ
เพราะ . . . 'จินตนาการสำคัญกว่าความรู้'
และจินตนาการนี่เองที่จะพาให้เรา ก้าวข้าม และหลุดออกจากข้อจำกัดรอบๆตัวเราออกไปได้
ในทุกๆเรื่องในทุกๆจังหวะของการใช้ชีวิต
ผมเชื่ออย่างนั้น . . .
ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ ชื่นชมในศิลปะความงามของทุกสรรพสิ่ง และเนื่องจากจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ สรรพสิ่งจึงสวยงามในนิยามที่มันเป็น
ครั้งหนึ่ง ผมไม่เคยคิดที่จะชื่นชมในรูปแบบของบ้านทรงไทย มันช่างดูเก่าและล้าสมัย ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีเครื่องอำนวยความสบายแต่อย่างใด บางทีแม้แต่หลอดไฟก็ยังไม่มี ....ผมเกลียด ผมชัง ซ้ำยังรู้สึกสยดทุกครั้ง ที่จินตนาการว่าต้องอยู่ในที่แบบนี้ มันช่างน่าอึดอัดและน่ากลัวเกินไปสำหรับผม
ทว่า ....ครั้งหนึ่งผมจำเป็นต้องไปอาศัยในที่แห่งนั้น จินตนาการที่ผมเคยสร้างไว้ได้ถูกทำลายลง
ผมเข้าใจแล้วว่า ทำไมมันถึงไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกใดๆ คงเพราะมันไม่จำเป็น....ที่นั่น เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเสียงใบไม้... เป็นครั้งแรกที่ได้ฟังทำนองเพลงของลม และเป็นครั้งแรกที่ผมลืมตาตื่นโดยไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์ใดๆ จำได้ว่า ช่องว่างระหว่างพื้นกระดานแต่ละอัน ทำหน้าที่ไม่ต่างจากเครื่องปรับอากาศ ในยามค่ำคืน แสงเทียนที่พลิ้วไหว ก่อให้เกิดแสงเงาที่แปลกตา และในยามเช้า เสียงของนกและแสงแดด กลายเป็นนาฬิกาปลุกที่มีเสียงนุ่มนวลที่สุดที่ผมเคยได้ยิน
ความรู้สึกในตอนนั้นเหมือนถูกไม้ตีแสกเข้าที่หน้า ทั้งๆที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนปิดกั้น ทั้งๆที่ทั้งชีวิตนี้ใช้แต่จินตนาการ ทว่า....ผมคงใช้มันไม่ถูกต้อง
ณ ตอนนี้ ผมหวังว่าสักวันหนึ่งผมจะมีบ้านทรงไทยเป็นของตัวเองสักหลัง....
จากคำกล่าวที่ว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" หากมาคิดดูอีกทีแล้ว
บางที เราก็ใช้จินตนาการของตัวเรา..มาปิดกั้นจินตนาการของตัวเอง
ปล. รูปถ่ายสวยมากครับ^^
ขอบคุณมากครับสำหรับ comment :)
รูปสวยครับ ขอยืมรูปนึงไปเป็น Online Invitation Card สำหรับงานรับปริญญานะครับผม
รูปถ่ายสวยมากเลยค่า ชอบมากกก >w< บทความก็ให้แง่คิดที่ดีมากเลยค่า ขอบคุณที่โพสต์สิ่งดีๆ แบ่งปันกันนะค้า :)
ขอบคุณที่แวะเข้ามาอ่านและ comment ครับ
Post a Comment