พ่อครัวจำเป็น

เคยเข้าครัวกันไหมครับ?
ถ้าคุณ . . .
- ชอบทานอาหาร
- มีอายุ 15 ขวบขึ้นไป
- เป็นผู้หญิง
การเข้าครัวคงเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตของคุณ ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นหรือเป็นหน้าที่ . . . พูดถึงการเข้าครัวผมมักจะคิดถึงผู้หญิงก่อนผู้ชาย ทั้งๆที่ Chef เก่งๆมากมายที่ผมเห็นตามรายการโทรทัศน์ทั้งไทยและเทศนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชายทั้งนั้น
หัวหน้า chef ตามโรงแรมหรูหรือนักชิมเลื่องชื่อก็ผู้ชายเช่นกัน

คงเป็นเพราะผมโตมากับครอบครัวที่มี"แม่"เป็นคนทำอาหารกระมัง. . .จึงคิดถึงผู้หญิงก่อน



มาม้าผมดูแลเรื่องอาหารการกินทุกๆมื้อเย็นสมัยที่ยังทำงานอยู่ . . . เหมือนเป็นสูตรสำเร็จ
ของหลายๆบ้านคือ เวลาเข้าครัวผมไม่มีสิทธิ์หรือโอกาสใดๆแม้แต่จะเป็นลูกมือ
แค่ไปยืนดูมาม้าทำอาหารยังแทบไม่ได้เลย . . . มันเกะกะ


ยิ่งผมเป็นเด็กผู้ชายวัยซนด้วยยิ่งไม่ต้องพูดถึง
ตะหลิว ครก หรือเขียง อย่าหวังจะได้จับ


ในวัยเด็กที่เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากลอง ผมมักโดนดุเป็นประจำที่เข้าไปทำตัวเกะกะในครัวเสมอๆเวลาที่มาม้าเข้าครัวทำอาหาร . . . เมื่อบ่อยครั้งเข้า ความอยากรู้จึงเริ่มลดและหดหายไปเนื่องด้วยไม่อยากโดนดุและเป็นตัวปัญหาอีก จึงไม่น่าแปลกอะไรถ้าผมจะไม่รู้เรื่องการเข้าครัวเลย

ที่บ้านของคุณมีสูตรสำเร็จแบบนี้เหมือนกันไหมครับ?


จนกระทั่งถึงช่วงเวลาที่ผมต้องเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา เป็นอีกบทของการเดินทางในโลกกว้าง ต้องอยู่ด้วยตัวเอง เอาตัวรอดและดูแลชีวิตตัวเองทั้งหมด . . . ผมจึงมีโอกาสได้เข้าครัว

สำหรับชีวิตของผมที่นั่น . . . ถ้าไม่อยากหมดตูดหรืออดตาย ต้องเข้าครัว !
อีกทั้ง Savannah, GA ในช่วงที่ผมไปใช้ชีวิตที่นั่นนั้น ไม่มีร้านอาหารไทยเลย . . . จึงถึงเวลาของพ่อครัวจำเป็น . . . จำเป็นต้องเข้าครัว

วิธีที่ง่ายที่สุดในการทำอาหารของคนไม่รู้เรื่องการทำอาหารอย่างผมคือ "ภาพจำ"
จำได้ว่าไอ้ที่เราเคยทานมันใส่ไอ้นั่นไอ้นี่ ไอ้นี่เราชอบก็ใส่ ไอ้นี่เราไม่ชอบก็ไม่ใส่ ไม่ต้องคิดมากเพราะทำเองกินเองอยู่แล้ว และด้วยความที่ใช้หลัก "ภาพจำ" ผมก็ทำได้เพียงอาหารง่ายๆ สะดวกและรวดเร็วเท่านั้น . . . อาหารจำพวกที่ต้องใช้ฝีมือและความปราณีตนั้นผมจะซื้อทานเอานานๆทีเพื่อสนองความอยาก

คำถามที่ผมมักได้ยินบ่อยครั้งที่โทรศัพท์กลับมาคุยกับป๊าคือ
"วันนี้ทำอะไรกินวะ?"
"ทำเป็น?"
"ทำแล้วจะแดกได้? . . . ฮา"
สบโอกาสจึงถ่ายรูปเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกและส่งให้ป๊าดูทาง email เพื่อยืนยันป๊าว่า "แดกได้ป๊า"

นานๆเข้าครัวสักครั้งก็ไม่เลวนะครับ . . .

food_09
food_10
food_08
food_07
food_06
food_05
food_04
food_03
food_02
food_01

Friendship Village

บ้าน
บ้าน
ในช่วงนี้ที่ป๊าไม่สบายและพักอยู่ที่โรงพยาบาล ผมและมาม้าต้องดูแลเอกสารต่างๆแทนป๊า
ผมหมายรวมถึงการ "เปลี่ยนบ้านเลขที่" ตามกฎการจัดระเบียบใหม่ของทางราชการ

และการแจ้งเปลี่ยนนั้นเจ้าของบ้านต้องนำทะเบียนบ้านไปแสดงเพื่อขอรับการเปลี่ยนเลขที่บ้านใหม่
ระหว่างที่ค้นหาเอกสำคัญต่างๆในซองที่ป๊าจัดเก็บเอกสารไว้ มาม้าบังเอิญเจอแผ่นพับแผ่นนี้เข้า

"ไม่รู้จะเก็บเอาไว้ทำไมเนี่ย" ม้าทำเสียงเซ็งๆที่เห็นและเริ่มหงุดหงิดที่หาทะเบียนบ้านไม่เจอ
และด้วยวิญญาณแม่บ้านของมาม้าที่ต้องการความมีระเบียบเรียบร้อย
ผมเดาได้ทันทีว่าม้าต้องการทิ้งมันไปเพราะเห็นว่าไม่จำเป็นหรือมีประโยชน์ใช้สอยอะไรนอกจากเก็บไว้ให้รกบ้าน

ผมรีบห้ามและขอมันมาเก็บรักษาไว้ทันทีที่เห็น มันคือแผ่นพับโฆษณาหมู่บ้านจัดสรรแห่งแรกในประเทศไทย . . .

หมู่บ้านที่ผมเติบโตขึ้น . . . Friendship Village

เจ๋งว่ะ . . . ผมคิดชมป๊าในใจ


ป๊าคงจะเก็บมันไว้เป็นทั้งที่ระลึกและเป็นเครื่องเตือนใจของการสร้างครอบครัวจนมาถึงทุกวันนี้
ป๊าเล่าให้ผมฟังว่าป๊าเข้ากรุงเทพฯมาด้วยความผิดหวังของอาก๋งที่อยากให้ลูกชาย
ช่วยที่บ้านทำมาค้าขายตามประสาคนจีนในสมัยก่อน ป๊าตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯเพื่อเรียนหนังสือและอยากหางานทำที่มั่นคงกว่า จึงเข้ามาต่อสู้ผจญภัยในกรุงเทพฯและก่อร่างสร้างตัวมาจนถึงทุกวันนี้ และด้วยความที่ครอบครัวเราไม่ได้ร่ำรวย ป๊าต้องเริ่มจากศูนย์ . . . อดทนทำงาน เก็บหอมรอมริบ จนผมไม่ต้องมีชีวิตที่ลำบากอะไร

หลังจากนั้นป๊ายังแนะนำและช่วยเหลือน้องๆ (อาโกว อาเจ็ก ทั้งหลาย) ให้ตามกันมาเรียนหนังสือ
จนได้รับปริญญาและมีการงานที่ดีทำกันทุกคนซึ่งพิสูจน์ให้อาก๋งเห็นและวางใจได้ว่าลูกๆทุกคนเอาตัวรอดกันได้

หลังแต่งงานสักพักป๊าเริ่มมองหาที่อยู่อาศัยสำหรับลงหลักปักฐาน ประจวบเหมาะกับจังหวะที่ Friendship Village นี้ถูกจัดตั้งและเปิดให้จองขึ้น มันกินเวลากว่าสิบปีที่ป๊าต้องทำงานผ่อนจ่ายค่าบ้านหลังนี้ . . . ไปพร้อมๆกับการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของครอบครัว

คงไม่แปลกอะไรถ้าป๊าจะเก็บมันไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงชีวิตที่ยากลำบากที่ฝ่าฟันมา

บ้าน
บ้าน
บ้าน
ผมจำไม่ได้แล้วว่าหน้าตาของบ้านที่ผมอยู่นี้ในสมัยก่อนเหมือนหรือต่างกันแค่ไหน
กับบ้านในภาพถ่ายของแผ่นพับนี้ ด้วยความที่เวลาล่วงเลยมานานและผมยังเด็กเกินกว่าที่จำอะไรได้ จะรู้สึกได้ก็เพียงแค่เค้าโครงของบ้าน (Structure) ที่พอจะทิ้งกลิ่นอายของความคล้ายเอาไว้บ้าง

สำหรับเด็กชายตัวเล็ก บ้านหลังนี้ดูใหญ่โต บางเวลาเป็นพื้นที่พักอาศัยหลับภัยธรรมชาติ บางเวลาเป็นสนามกีฬานานาประเภท บางเวลาเป็นพื้นที่ของจินตนาการและเรียนรู้ และบางเวลาเป็นโรงเรียนที่ไม่ต้องมีกระดานดำ

เมื่อดูแผ่นพับนี้ด้วยความตั้งใจ ผมเห็นความอดทน การต่อสู้ ความตั้งใจของป๊า ผมเห็นชีวิตและความอบอุ่นตั้งแต่ผมลืมตาดูโลกมาจนถึงวันนี้

แล้วผมจะทิ้งมันไปได้อย่างไรเล่า?

Territory 03

Territory 03
Territory Volume 03 กับ theme เรื่อง Superpower of Design ฉบับนี้ผมได้มันมานานแล้ว . . . ตั้งใจว่าจะถ่ายรูปมาลง blog แนะนำกันไว้แต่ไม่สบโอกาสสักที

ผมไม่ใช่ขาประจำของ Territory แต่เมื่อเห็น Volume 03 บนแผงก็อดจะหยิบขึ้นมาเปิดดูไม่ได้เนื่องด้วยหน้าปกที่ค่อนข้าง Attractive

Superpower of Design เป็นเหมือนหนังสือ interview กลุ่ม designers ที่กำลังเป็นที่จับตามองหรือกำลังมีชื่อเสียงในแวดวง graphic design ปัจจุบัน
ไม่ว่าจะเป็น Devilrobot, Doma, friendswithyou, Jonburgerman, Koadzn, eleven 18, c505, Rinzen และ Tronic Studio กลุ่ม designer สุดโปรดที่ผมเกือบจะได้ไปร่วมงานด้วยที่ NYC (คิดแล้วเศร้า+เสียดายจริงๆ)

Territory 03

Territory 03
หนังสือพิมพ์ 4 สี่ทุกหน้าในราคา 300 บาทมาพร้อมกับ CD-Rom ที่บรรจุ Motion + Interactive projects ที่น่าสนใจไว้ให้เราได้ชมกัน . . . ให้กันซะขนาดนี้คงไม่ต้องเสียเวลาคิดนานที่จะนำมาเก็บไว้ในชั้นหนังสือที่บ้าน

Territoy เป็นหนังสือ design จาก Malaysia จัดทำโดย
Bigborsworkshop (BBWS) เมื่อ Sept 2003 ซึ่งก่อตั้งโดย Si juan, Creative Director and Producer ของ BBWS. เห็นแล้วก็ต้องชื่นชมในความตั้งใจทำงานของเขาล่ะ

แต่ยิ่งอ่าน ยิ่งดูก็ยิ่งอดน้อยใจไม่ได้ว่าทำไม ประเทศไทยเราถึงไม่มีหนังสือแบบนี้กับเขาบ้าง?
ผมเชื่อเหลือเกินว่าคนไทยเก่งไม่แพ้ชาติไหนในโลก และเรื่องของ Design ด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง
เรามี designers เก่งๆอยู่ทุกๆสาขา จะขาดก็แต่เรื่องของโอกาสและทุนในการสร้างศิลปะดีๆออกมาก็เท่านั้น

Territory 03

Territory 03

ป๊า

พุธ 17 สิงหาคม 2548
hospital
หลังบทสนทนาทางโทรศัพท์สิ้นสุด เสียงเครื่องโทรศัพท์สัมผัสพื้นโต๊ะ แล้วทุกอย่างก็เงียบลง

โต๊ะอาหารไม้ทรงกลม ในพื้นที่สี่เหลี่ยมล้อมรอบด้วยหน้าต่าง โคมไฟสีเหลืองส้มหนึ่งดวงห้อยลงจากเพดาน แสงแดดสาดส่องและอาบไปทั่วห้องพร้อมๆกับอากาศที่สดชื่นในยามเช้า มันเป็นอีกหนึ่งวันทำงานที่ผมไม่อยากลุกออกจากเตียง เช้านี้เป็นเช้าที่สบายๆเหมือนทุกๆวันที่ผ่านมา ผมเดินลงไปชั้นล่างเพื่ออาบน้ำแปรงฟัน เตรียมตัวไปทำงานตามปรกติ เห็นป๊านั่งทานอาหารเช้าอยู่ที่โต๊ะไม้ทรงกลมตัวนั้นเหมือนทุกๆวัน เราทักทายและคุยกันแล้วผมก็รีบออกจากบ้านไปทำงาน

4 ชั่วโมงต่อมาขณะที่ผมนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะใน Office เสียงโทรศัพท์มือถือของผมดังขึ้น
ด้วย Ring tone ที่คุ้นเคย . . .
ผมคิดขึ้นในใจก่อนจะกดรับสาย “สายจากทางบ้าน…ป๊าโทรมา”
แต่ปลายสายกลับเป็นเสียงของม่าม้า เสียงที่กระชับดังและตกใจผ่านมาตามสายทันทีที่ผมรับสายขึ้น
“ป๊าเป็นลม เรียกแล้วไม่ตอบ ไม่รู้เป็นอะไร”

เป็นประโยคที่ผมไม่คาดคิดและไม่อยากได้ยินที่สุดในชีวิต
ผมตัดสินใจกลับบ้านทันที

ผมมองออกนอกหน้าต่างชั้น 20 ของตึกที่ผมนั่งทำงาน แลเห็นถนนสุขุมวิทและรถมากมายเหมือนทุกๆวัน แต่วันนี้จิตใจมันร้อนและอึดอัด คิดไม่ออกว่าทำอย่างไรจึงจะเดินทางบนถนนเส้นนี้ให้เร็วที่สุด . . .
เพื่อให้ถึงบ้าน . . .
ขับรถกลับบ้าน?
รถไฟฟ้าแล้วไปต่อมอเตอร์ไซด์?
มอเตอร์ไซด์ยาวรวดเดียวไปเลย?

ขณะที่เดินออกจาก Office มารอลิฟต์ ผมยังคิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไรดีบวกกับความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับป๊า
ทั้งๆที่ป๊าก็ดูปรกติในตอนเช้า ไม่มีอาการอะไรใดๆให้สงสัยได้เลย ทางเดียวที่ดีที่สุดที่ผมคิดได้ตอนนี้คือต้องถึงมือหมอให้เร็วที่สุด . . .

ป๊าเป็นคนอ้วน มีน้ำหนักมาก ป๊าเคยเล่นกล้ามอย่างเต็มที่ในวัยหนุ่ม มีร่างกายที่แข็งแรงและสวยงาม เมื่อหยุดเล่นและอายุมากขึ้นป๊าก็ลงพุง อ้วนท้วน แต่แข็งแรง ด้วยเหตุนี้ม้าจึงไม่สามารถที่จะอุ้มป๊าขึ้นรถและนำส่งโรงพยาบาลได้ ประกอบกับการที่ม้าไม่รู้ว่าป๊าเป็นอะไร จึงโทรหาผมก่อนหลังจากเห็นว่าป๊าผิดปรกติ

ผมตัดสินใจขับรถกลับบ้านเพราะคิดว่าคงไม่กลับมาทำงานอีก หลังขึ้นรถผมกดโทรศัพท์หาน้องสาวที่เป็นหมอ บอกเล่าอาการตามที่ได้ยินมาให้น้องฟังแล้วขอคำแนะนำ แล้วก็ตรงกลับบ้านอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้

มันเป็นเวลาบ่ายโมงกว่าๆ สุขุมวิทเงียบแต่ไม่เหงา ผู้คนยังนั่งทำงานใน Office มากกว่าจะออกมาใช้ชีวิตบนถนนข้างนอก ด้วยใจที่ร้อนและพุ่งไปข้างหน้าเกินรถ รถของผมทะยานออกไปด้วยความเร็วที่สุดเท่าที่การจราจรจะอำนวย
ผ่านถนน ตรอก ซอกซอยต่างๆ
ผ่านเสายักษ์ที่รองรับเส้นทางของรถไฟลอยฟ้าที่เรียงเป็นแนวต้นแล้วต้นเล่า
ผมยอมรับว่าผมขับรถอย่างไร้มารยาทที่สุดและพร้อมจะฝ่าฝืนกฎจราจรตลอดเวลา
วันนี้ผมรู้สึกว่าระยะทางจากที่ทำงานกับบ้านช่างไกลเหลือเกิน . . . ไกลกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

ไม่นานนักผมก็ถึงบ้าน หลังบทสนทนากับน้องสาว น้องผมโทรบอกโซ้ยเจ็ก, พ่อของเขา, ซึ่งเป็นหมอทางสมองโดยตรง โซ้ยเจ็กส่งรถพยาบาลมาที่บ้านผมทันที ผมไปถึงบ้านก่อนรถพยาบาลราวๆ 10 นาที อ้าปากค้างและพูดอะไรไม่ออกขณะที่วิ่งเข้าไปในบ้าน . . . ภาพตรงหน้าปรากฎร่างของชายวัยเจ็ดสิบปีนอนอยู่ที่เตียงตัวโปรด
ที่ใช้นอนดูโทรทัศน์เป็นประจำ ร่างนั้นกำลังกระตุกอยู่อย่างทุรนทุราย ใบหน้าที่ย่นเกร็ง เปลือกและเบ้าตาที่ช้ำจนเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ การหายใจที่ติดขัดและสำลักตลอดเวลาอย่างทรมานที่สุด ไม่ต้องเรียนหมอก็บอกได้เลยทันทีว่าป๊ากำลังจะตาย


“เฮ้ย นี่มันเกิดอะไรขึ้น . . . ป๊า ! ป๊าได้ยินไหม?”
ผมทรุดตัวลงแล้วกุมมือป๊าไปพร้อมๆกับเอ่ยถามและชวนคุยไปตลอด
ระหว่างที่รอรถพยาบาลมาถึงบ้านด้วยกลัวว่าเขาจะหลับไปและไม่ตื่นขึ้นมาอีก ผมโทรกลับไปหาน้องผมอีกครั้ง เล่ารายละเอียดที่ผมเห็นตรงหน้าให้เขาฟังและถามถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น


“รอ”

เป็นทางเดียวและเป็นคำแนะนำเดียวที่น้องผมบอก
คงต้อง “รอ” รถพยาบาลมารับ . . . ฟังแล้วอยากจะตาย เพราะใจที่ร้อนรน สับสน และคิดหาทางอะไรไม่ออก
สมองฟุ้งซ่านเลยเถิดไปถึงการจราจรที่โครตสะดวกสบายของกรุงเทพฯจนทำให้เครียด
และคิดไม่ออกว่าอีกนานแค่ไหนป๊าจึงจะถึงมือหมอที่โรงพยาบาล . . .


“ป๊าอดทนหน่อยนะ รถพยาบาลกำลังมาแล้ว” ผมตะโกนบอกป๊าและยังกุมมือป๊าไว้แน่น
ป๊าไม่สามารถตอบหรือพูดอะไรได้ แต่กระดิกนิ้วอย่างอ่อนแรงเหมือนเป็นการตอบว่าเขาได้ยินและยังรู้เรื่องอยู่ ผมรู้ว่าป๊ากำลังเจ็บหนักเหมือนๆกับที่ผมก็เจ็บใจที่ทำอะไรไม่ได้ . . . “โธ่เว้ย! นี่มันอะไรกันวะเนี่ย”

hospital
หลังจากลุกลี้ลุกลนสักพักรถพยาบาลก็มาถึงบ้านและเคลื่อนย้ายป๊าขึ้นไป ม้ากับผมขับรถตามรถพยาบาลออกจากบ้านไปด้วยจิตใจที่สับสนและร้อนใจ ระหว่างทางไปโรงพยาบาลผมไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ น้ำตาที่ไหลออกตลอดเวลาและจิตใจที่ยากที่จะควบคุม ส่งผลให้อารมณ์ระเบิดออก ผมจำไม่ได้ว่าผมพูดและบ่นอะไรออกไปบ้างแต่ม่าม้านั่งเงียบสงบไม่พูดอะไร ม้าไม่ได้ร้องไห้แต่ความรู้สึกห่วงใยฉายชัดในนัยน์ตาคู่นั้น . . .

ป๊าถูกย้ายเข้าสู่ห้องฉุกเฉินทันทีที่ถึงโรงพยาบาล นับเวลาจากที่ผมเห็นป๊าที่บ้านจนถึงห้องฉุกเฉินไม่ต่ำกว่า 30 นาที . . .
30 นาทีที่ผ่านไปเกิดอะไรขึ้นอีกหรือไม่ภายในร่างกายป๊า?
มันร้ายแรงขึ้นอีกแค่ไหน?
สายเกินไปหรือยัง?
เกิดอะไรขึ้นกับป๊า . . . ทั้งๆที่แกไม่ได้ล้ม . . . ไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยใดๆมาก่อน?
ความเหนื่อยกาย ความเครียด และความคิดความรู้สึกสารพัดประดังกันเข้ามา . . .

ผมกลัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในชีวิต เป็นความรู้สึกที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตที่เคยเกิดขึ้น . . . ในเรื่องอารมณ์ของมนุษย์ ความกลัว น่าจะเป็นสิ่งที่อันตรายและร้ายกาจอย่างที่สุด คงไม่มีมนุษย์คนใดในโลกที่ไม่มีความรู้สึกนี้ การมีความกลัวอยู่บ้างคงเป็นเรื่องที่ดีในการดำเนินชีวิต แต่หากมีมากเกินไป จิตใจจะกังวลและส่งผลกระทบต่อไปเป็นลูกโซ่


พุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี เข้าใจชีวิต ควบคุมอารมณ์ กิเลส ตัณหาในใจของเรา . . .พัฒนาสู่นิพพาน . . . ในขณะที่ศาสนาสอนให้เราควบคุมจิตใจและอยู่เหนือมัน
วิทยาศาสตร์ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายเกิดขึ้นและดับสูญไปตามกาลเวลา ธรรมชาติไม่เคยสร้างอะไรที่สูญเปล่า เซล์ที่หมดหน้าที่ก็ถูกขับออกไป เซล์ใหม่ก็เกิดขึ้น เมื่อถึงเวลาชีวิตก็ดับสูญไปและชีวิตใหม่ก็เกิดขึ้นทดแทนกันไปแบบนี้มาหลายล้านล้านปี. . .

ใดใดในโลก (หรือจักรวาล) ล้วนอนิจจัง . . .
และแม้ว่าผมจะเคยได้ยินได้ฟังคำสอนเหล่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ผมก็ยังไม่สามารถควบคุมจิตใจของตัวเองให้สงบ ให้ปลง ให้นิ่ง ได้อยู่ดี

hospital
รถพยาบาลเข้าจอดที่หน้าประตูศูนย์ฉุกเฉิน เมื่อถึงโรงพยาบาลผมไม่เห็นโซ้ยเจ็ก น้องชายแท้ๆของป๊า หรืออาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯและหมอสมองฝีมือดีของประเทศไทย
แต่คาดว่าเขาคงจะรออยู่ที่ห้องฉุกเฉินแล้ว หลังจากถามทางจากพยาบาล ผมพาม้าเดินหาห้องฉุกเฉินตามทางที่บอกเพื่อไปรอฟังผลว่าเกิดอะไรขึ้นกับป๊า


5 นาทีของการนั่งอยู่ที่หน้าห้องฉุกเฉินยาวนานเหมือน 5 ชั่วโมง . . . ผมเห็นบุรุษพยาบาลคนที่เข็นเตียงให้ป๊าเดินออกมาจากห้องฉุกเฉิน ผมรีบลุกขึ้นไปจับแขนและสอบถามเขาแต่ไม่ได้รับคำตอบอะไร ประตูที่ยังปิดไม่สนิททำให้ผมได้มองเห็นเตียงและบางส่วนของร่างกายป๊าเพียงชั่วขณะหนึ่ง โซ้ยเจ็กและพยาบาลหลายคนยืนล้อมรอบเตียง อุปกรณ์ทางการแพทย์หลายชนิดระโยงระยางไปมาบนร่างกายป๊า

การรับข่าวร้ายไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ไม่เคยผ่านเรื่องแบบนี้มาก่อน ตั้งแต่ก๋งเสียไปสมัยผมยังเด็กครอบครัวของผมยังไม่มีข่าวร้ายอีกเลย บางทีเวลาแห่งความเสียใจคงจะใกล้เข้ามาทุกที . . . ชีวิตของคนเรามันช่างเปราะบางเสียจริง ผมรู้สึกได้

hospital
ไม่นานนัก ร่างของชายวัยเจ็ดสิบถูกเข็นออกมาพร้อมกับลมหายใจที่ยังคงติดขัดและทรมาน สายท่อรูปแบบต่างๆระโยงระยางไปทั่วทั้งจมูก ปาก แขน และท่อปัสสาวะ บุรุษพยาบาลเคลื่อนย้ายป๊าเข้าสู่ห้อง X-Ray อีกด้านหนึ่งของโรงพยาบาล . . . พลันผมทราบจากโซ้ยเจ็กว่าเส้นเลือดในสมองของป๊าแตกเนื่องมาจากความดันโลหิตสูง
เลือดคงจะท่วมในสมองไปมากแล้วจากเวลาที่ผ่านไปนานหลายชั่วโมงกว่าจะถึงมือหมอ การ X-Ray จะทำให้หมอวินิจฉัยต่อไปได้ว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไร

ป๊าเป็นคนแข็งแรง ไม่มีโรคอะไรร้ายแรง ไม่มีอุบัติเหตุ . . . นอกจากไส้ติ่งแล้วป๊าไม่เคยผ่าตัดอีกเลย
และอาจเป็นด้วยเหตุผลนี้ ผมและม้าจึงคุ้นชินกับชีวิตประจำวันแบบเรียบง่ายปราศจากปัญหาและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
ไม่กี่นาทีต่อมาผมทราบผลจากโซ้ยเจ็กว่าเลือดท่วมในสมองเข้าไปสู่ส่วนที่เป็นโพรงน้ำเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งส่งผลให้ยังไม่ต้องทำการผ่าตัดทันทีแต่ต้องให้ยาเพื่อละลายเลือด
และรอดูผลว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปวันรุ่งขึ้น . . . มันไม่ร้ายแรงถึงขั้นผ่าตัด ไม่ถึงชีวิต แต่ยังไม่สามารถรับประกันว่าทุกอย่างปลอดภัยเพราะต่อจากนี้อาจจะมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้อีก และผลจากการที่เสียเส้นเลือดไปและเลือดเข้าไปที่โพรงน้ำอาจส่งผลให้ป๊าเป็นอัมมะพาตหรืออัมมะพฤท


x-ray
“รอ” เป็นทางเดียวในวินาทีนั้นอีกครั้งหนึ่งสำหรับป๊า . . .

ป๊าถูกย้ายเข้าสู่ห้อง I.C.U. เพื่อให้มีการดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เครื่องช่วยหายใจช่วยให้ป๊าหายใจได้ง่ายขึ้นมาก อาการสำลักและกระตุกยังคงมีให้เห็นอยู่ นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นน้ำมูกและน้ำลายของป๊าเป็นสีดำ มือของป๊าสบัดขึ้นตามอาการสำลักแบบไม่สามารถควบคุมทิศทางและน้ำหนักได้ ใบหน้าและปากที่บิดเบี้ยว ผิวหนังบนใบหน้าที่ย่นเกร็ง จังหวะของลมหายใจที่หอบ ติดขัดยิ่งเพิ่มความสับสนปนร้อนใจให้ผมและม้ามากยิ่งขึ้น เราทั้งคู่ต่างคิดไม่ถึงว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายถึงขนาดนี้ . . . ผมและม้ายืนสงบนิ่งที่ข้างเตียงมองไปที่ป๊า โซ้ยเจ็กบอกเพียงแค่ว่าต้อง “รอ” เท่านั้น

เครื่องดูดน้ำลายยังคงดูดซับน้ำลายและสิ่งสกปรก
ท่อปัสสาวะยังคงลำเลียงน้ำเสียออกไป
เครื่องช่วยหายใจยังคงปั๊มส่งลมเข้าสู่ระบบหายใจ
น้ำเกลือและยาต่างๆถูกผสมและส่งถ่ายเข้าสู่ร่างกายของป๊าสม่ำเสมอ

สิ่งเดียวที่พอจะเห็นเป็นความหวังคือการ ผงกหัวของป๊าเบาๆเมื่อผมก้มหน้าลงไปพูดข้างๆหูว่า ผมรักป๊าและขอให้เขาอดทนอย่ายอมแพ้ ขณะนี้เขาได้อยู่ในการดูแลอย่างดีที่สุดแล้ว . . . ดูเหมือนว่าสมองของเขายังคงตอบสนองได้ ยังคงรับรู้และเข้าใจสิ่งที่ผมพยายามบอกเขา

คืนนั้นผมขับรถกลับบ้านกับม๊าอย่างเลื่อนลอย . . .
แสงจันทร์ฉายแสงซีดบนท้องฟ้าที่มืดครึ้มแลดูหม่นหมอง เมื่อความเหนื่อยกาย เหนื่อยใจ ความเครียด ความรู้สึกสารพัดประดังกันเข้ามา หลายคำถามผุดขึ้นมาในคืนนั้น และผมไม่มีคำตอบ ผมมองไปรอบๆบ้านอย่างอึดอัด บ้านที่เรา พ่อ แม่ ลูก อยู่ด้วยกันมาตลอด แล้วความกลัวก็เข้ามาครอบงำในจิตใจ คืนนี้เป็นคืนที่ยาวนานและผมจำไม่ได้ว่าผมหลับไปช่วงไหน

ม่านตาเบื้องหน้าคลี่ออกมองเห็นสีดำทั้งผืน ผมไม่แน่ใจว่าผมหลับหรือตื่นขึ้นมาแล้ว เมื่อสายตาปรับได้ระดับชัดลึกผมเห็นเพดานห้องในความมืดจนเกือบจะมองไม่เห็น ผมตื่นขึ้นตอนเช้ามืดในเวลาที่แสงแดดยามเช้ายังมาไม่ถึง ความหวาดกลัว ความเครียด และการสูญเสียยังไม่มีทีท่าจะเบาบางลงจากจิตใจได้ง่ายๆแล้วผมก็รีบออกจากบ้านไป

20 วันในห้อง I.C.U. กับการต่อสู้กับโรคร้ายของป๊าผ่านไปอย่างยากลำบาก เมื่อไม่ต้องพึ่งพาเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆและเริ่มทานอาหารได้อีกครั้ง ป๊าก็เริ่มรู้สึกดีขึ้น พร้อมๆกับความรู้สึกถึงความหวังที่ชัดเจนขึ้นของคนรอบๆข้างที่คอยให้กำลังใจอยู่ แม้ว่าแขนขาจะยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ แต่การขยับแสดงให้เรารู้ว่าป๊าคงจะรอดพ้นจากการเป็นอัมมะพาตอย่างแน่นอน แค่เพียงมีบางสิ่งที่ป๊าต้องเรียนรู้ก่อนที่จะสามารถกลับบ้านได้ บางสิ่งที่อาจเป็นเพียงสิ่งง่ายๆสำหรับเราแต่ผมมั่นใจว่ามันไม่ง่ายเลยสำหรับป๊า

ป๊าต้องเริ่มต้นเรียนรู้จักการควบคุมร่างกายตัวเองอีกครั้งแบบเป็นระบบ ตั้งแต่การลืมตา ปรับตำแหน่งของตาดำและสายตาให้ชัด พลิกตัว จับสิ่งของ การขับถ่าย การลุกนั่ง ตลอดไปจนถึงการยืนและเดิน นอกจากต้องต่อสู้กับตัวเองแล้วป๊ายังต้องต่อสู้กับโรคแทรกซ้อนต่างๆที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่ออาการเริ่มดีขึ้นแล้วป๊าถูกย้ายไปที่ส่วน คลีนิคผู้ป่วยนอก, O.P.D. ซึ่งทำให้ผมสามารถพักอยู่กับป๊าได้ตลอด 24 ชม. และน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่ได้ออกจากห้อง I.C.U.

hospital
ตาดำที่เคยถ่างห่างและมองเห็นภาพซ้อนเริ่มกลับเข้าสู่ตำแหน่งปรกติ
มือที่เคยสบัดและควบคุมไม่ได้เริ่มคงที่ขึ้นแม้จะยังมีอาการแกว่งและไม่นิ่งให้เห็นอยู่ทางซีกขวา
ขาเริ่มขยับได้มากขึ้นแม้จะลีบลงบ้างจากการนอนมานาน
ระบบขับถ่ายเริ่มเข้าที่เข้าทางเป็นระยะเป็นเวลา
และที่สำคัญ “ความดัน” เริ่มที่จะลดลงพ้นจากระดับอันตราย

อีกเกือบ 20 วันใน O.P.D. ที่ป๊าต้องต่อสู้กับการปรับตัวและจิตใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งดูเหมือนว่าอย่างหลังจะทำได้ยากยิ่งกว่า ผมรู้ว่ามันทรมานและน่าอึดอัดที่ต้องนอนอยู่ที่โรงพยาบาลหลายสัปดาห์โดยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และยิ่งน่าทรมานและอึดอัดกว่าเมื่อเห็นน้ำตาของป๊าที่ไหลออกมาเพราะความเครียดที่ยังเอาชนะโรคร้ายไม่ได้ ผมบอกป๊าเสมอว่าป๊าดีขึ้นมากแล้ว อีกไม่นานก็สามารถกลับบ้านได้และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปรกติ ผมไม่ได้โกหกป๊าหรือโกหกตัวเอง ผมเชื่อว่าป๊าจะต้องดีขึ้นอีก ผมเชื่ออย่างนั้น. . .

x-ray
ผลการตรวจเลือดและ X-Ray สมองของป๊าครั้งล่าสุดบอกให้รู้ว่า ทุกๆอย่างกลับมาอยู่ในสภาวะปรกติแล้ว และนั่นหมายถึงการผ่าตัดสมองจะไม่เกิดขึ้น ที่เหลือจากนี้อยู่ที่ "ใจ" ของป๊าเท่านั้น ใจที่จะไม่ย่อท้อต่อความอึดอัด ความไม่คล่องตัวเหมือนก่อน ใจที่จะอดทนต่อเวลาที่ยาวนานของการฝึกฝนทางกายภาพเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปรกติ

ป๊าในวันที่เกิดเหตุกับป๊าในวันนี้ต่างกันค่อนข้างมาก ป๊าเหมือนฟื้นขึ้นอีกครั้งหลังจากครึ่งเป็นครึ่งตายมาหลายสัปดาห์ ตลอดเวลาที่ป๊าอยู่โรงพยาบาล ตั่วโกว ยี่โกว ซาโกว ซี๊โกว โซ้ยโกว ซาเจ็ก ซาซิ่ม โซ้ยซิ่ม ญาติพี่น้องและผองเพื่อนต่างแวะเวียนมาเยี่ยมและให้กำลังใจป๊าไม่ขาด

พุธ 22 กันยายน 2548
ไฟบนฝ้ายังคงส่องสว่าง เครื่องปรับอากาศยังคงปรับอุณหภูมิให้คงที่ต่อไป เวลากว่า 5 สัปดาห์ในโรงพยาบาลที่แสนยาวนานและกดดันค่อยๆผ่านไปอย่างช้าๆและยังไม่สิ้นสุด วันนี้ป๊าไม่ต้องขยับเพียงแค่นิ้วหรือผงกหัวตอบรับบทสนทนาของผมเหมือนวันนั้นอีกต่อไป ป๊าต้องพูดต้องคิดและขยับทั้งร่างกายให้ได้เหมือนคนปรกติ ยิ่งเร็วยิ่งเป็นผลดีและจะทำให้ป๊าออกจากโรงพยาบาลได้เร็วยิ่งขึ้น

hospital
ไม่รู้เป็นเรื่องบังเอิญหรืออย่างไรกับ Blog ที่ผมเขียนช่วงนี้ทั้งเรื่อง “be with you”+“อาม่าและหน้าเก๋ง” รวมถึงเรื่องของ "ป๊า" จะมีประเด็นที่เหมือนกันและเกี่ยวโยงกันอยู่คือเรื่องของเวลาชีวิต . . . “ชีวิตคนเรามันสั้น” . . . หลายๆคนรวมทั้งผมเองคงจะเคยมองข้ามมันไป ไม่เห็นคุณค่าของมันโดยเลือกที่จะ “บ่น” หรือ "ละเลย" มันมากกว่าทำจะอะไรที่เป็นประโยชน์

ว่าไปแล้วผมก็เป็นคนที่โชคดีแล้วที่อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้และพบสัจธรรมข้อนี้
จากประสบการณ์ตรงๆแม้ว่าเราจะสามารถเรียนรู้ประสบการณ์เหล่านี้ได้ทางอ้อมจากการอ่าน ฟัง หรือมองเห็น


คนเรามักไม่ค่อยเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีจนกว่าเราจะเสียมันไป บางทีก่อนที่เราจะบ่นเราน่าจะตรองดีๆก่อน

แล้วเราอาจจะพบว่าเราก็โชคดีแล้วที่ยังมีโอกาสหรือมีสิ่งดีๆที่คนอื่นๆอีกหลายคนไม่มี
ในเมื่อชีวิตมันเปราะบางและสั้นเช่นนี้
ในเมื่อเราไม่รู้ว่าเรามีเวลาชีวิตที่เหลืออยู่อีกนานแค่ไหน
เราน่าจะทำชีวิตของเราให้ดีและมีค่าที่สุดก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป . . .